Menu Close

สอวช. เข้าพบอธิการบดี เพื่อหารือโครงการเด็กชายขอบ

สอวช. เข้าพบอธิการบดี เพื่อหารือโครงการเด็กชายขอบ

เมื่อวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พร้อมด้วย ดร.ชุมพล เที่ยงธรรม กรรมการสภาสถาบันฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ , นายกรัณ ศรกาญจน์ นายกสมาคมศิษย์เก่า , ดร.แสนศักดิ์ ดีอ่อน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์การเรียนกาญจนบุรี , นายกิตติศักดิ์ กาญจนรัชต์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี , อาจารย์มิณเรศน์ เตชะวงษ์ และผู้แทนศิษย์เก่าฯ ให้การต้อนรับ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้แก่ ดร.พริสา ตั้งล้ำเลิศ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. , นางสาวอัชฌา ป่านแก้ว ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. และนางสาวณัฐฐินันท์ ละลอกแก้ว นักพัฒนานโยบาย สอวช. ณ ห้องทำงานอธิการบดี สำนักงานอธิการบดี อาคารอำนวยการ

เพื่อสัมภาษณ์อธิการบดี ในการดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาเด็กชายขอบตามพระราชดำริ ของศูนย์การเรียนกาญจนบุรี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และขอคำแนะนำเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษาและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อศึกษาวิจัย การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางและมาตรการขยายผลการพัฒนากำลังคน ระดับอาชีวศึกษา

โดย อธิการบดี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ โครงการยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเด็กขายขอบ ณ ศูนย์การเรียนรู้ จังหวัดกาญจนบุรี ดังนี้
1. เพื่อสอนวิชีพให้กับนักเรียนชายขอบผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่มีความประพฤติดี เข้าฝึกปฏิบัติเป็นช่างฝีมือ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนตามฐานสมรรถนะวิชาชีพ
2. การเรียนรู้วิชาชีพตามอัธยาศัยร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) การเรียนรูปแบบ กศน.วิชาชีพ เมื่อสำเร็จตามหลักสูตรสามารถนำองค์ความรู้ไปเทียบวุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรีของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันได้
3. เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ไปหารายได้ช่วยเหลือตนเองและครอบครัว สามารถพึ่งพาตนเองได้
4. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสังคม พัฒนาคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
5. เพื่อผลิตกำลังคนให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านช่างฝีมือ ตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ที่สำคัญ ให้นักศึกษา “มีงาน มีเงิน มีรายได้” ลดปัญหาทางสังคม และเพิ่มรายได้ด้านเศรษฐกิจ ศูนย์การเรียนฯ นี้ จึงตรงตามวัตถุประสงค์ที่สร้างเด็กที่ “ขยัน อดทน รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ” โดยได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าในการให้การสนับสนุน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังสร้างครูที่ดี มีจิตอาสา ประกอบกับมีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยเริ่มต้นที่ตนเอง ที่ลงมือทำ จึงทำให้เกิดความศรัทธากับอาจารย์ที่สอน ณ ศูนย์การเรียนกาญจนบุรี ระยะแรกได้เปิดสอนหลักสูตร ระยะสั้นเริ่มจาก ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อม อนาคตจะเพิ่มเติมช่างเครื่องมือกล

ทั้งนี้ คณะทำงานจาก สอวช. จะดำเนินการประสานงานเพื่อเข้าเยี่ยมชมสถานที่ภายในศูนย์การเรียนกาญจนบุรี เพื่อให้คำแนะนำ และทำเป็น “ปทุมวันโมเดล” เพื่อนำไปเผยแพร่ให้เป็นแนวทางการพัฒนาเยาวชนผู้ขาดทุนทรัพย์และขาดโอกาส ต่อมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ที่มา : สำนักงานอธิการบดี