Menu Close

สทป.จัดพิธีลงนามจัดแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำของไทย

สทป.จัดพิธีลงนามจัดแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำของไทย

เมื่อวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 สถาบันเทคโนโลยีปทุนวัน จัดพิธีลงนามความร่วมมือในการจัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 3rd) ณ ห้องประขุมสวัสดิวัดนิวิศิษฎ์ ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรต สถาบันฯ โดยมีคณะผู้บริหารจาก 7 หน่วยงานร่วมลงนามเพื่อจัดการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ระบบเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน , สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ , มหาวิทยาลัยรามคำแหง , มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ในงานได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรกช ทวีสิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัย
ราชภัฏนครสวรรค์ , รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ , ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสถานประกอบการเข้าร่วมงาน โดยมีรองศาสตราจาย์ ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พร้อมผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรให้การต้อนรับ

รองศาสตราจารย์เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน รู้สึกเป็นเกียรติและมีความพร้อมอย่างยิ่ง ในการร่วมมือกับอีก 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำ รวมถึงงาน didacta asia (ดิแดคต้า เอเชีย) เพื่อที่จะผลักดันการศึกษาและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมระดับโลกให้กับประเทศไทย และนำองค์ความรู้ที่มีมาพัฒนาเยาวชนและบุคลากรในชาติ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความชำนาญเพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงมีความรู้ที่เท่าทันต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤติของโรคระบาด”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิฑูรย์ อบรม รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า “การแข่งขันดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีที่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะในสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ จะได้พัฒนาความรู้ของตัวเอง ทั้ง การฝึกทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์เชื่อมในระบบอุตสาหกรรม, การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิควิธีการใช้งานเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการที่มีหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายช่วยสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการแข่งขันระหว่างนักศึกษาจากสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ที่ได้ประสิทธิภาพอีกด้วย”

ด้าน นายบุญประเสริฐ พุฒิสรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด กล่าวว่า “เครือข่ายสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้ง 7 หน่วยงาน ต่างเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดการศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานและตอบสนองความต้องการของประเทศ ตามนโยบายให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยการนำเทคโนโลยีออโตเมชันมาใช้ในอุตสาหกรรม จึงกล่าวได้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือลงแรงครั้งสำคัญที่ผลักดันการศึกษาและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมระดับโลกมาสู่เยาวชนไทย เพื่อเสริมสร้างแนวคิดและทักษะด้านเทคโนโลยีให้เติบโต พร้อมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ต่อไปในอนาคต

ที่มา : ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน