Menu Close

คลังสมองปทุมวัน จัดเวทีระดมความคิดเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

คลังสมองปทุมวัน จัดเวทีระดมความคิดเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

 

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นประธานในการเปิดเวทีระดมความคิด เรื่องยานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศโดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิฑูรย์ อบรม รองอธิการบดีฝ่าย วิจัย นวัตกรรม และกิจการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และอาจารย์พสุพัฒน์ สัมมากสิพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิชาการ พร้อมด้วยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าและนักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เข้าร่วมระดมความคิดในครั้งนี้


การเปิดเวทีระดมความคิดเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในครั้งนี้ เป็นงานที่ต่อเนื่องจากการจัดการเสวนา ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมพัฒนาปทุมวันอย่างมืออาชีพ ซึ่งได้จัดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจาก เพชรช่างกล ชมรมศิษย์เก่าช่างกลปทุมวัน และสมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ที่จะสร้างเวทีให้คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่าและนักวิชาการได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ เพื่อให้ได้องค์ความรู้อันมีประโยชน์ในการสร้างงานวิจัย การสร้างนวัตกรรม การจัดหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรของสถาบัน


ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวถึงการส่งเสริมของภาครัฐว่ามีมาตรการผลักดันมาตรการ EV 3.5 เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและส่งเสริมนโยบาย 30:30 พร้อมกันในหลายๆด้าน ทั้งยังเร่งการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักและมีมูลค่าสูงสุดของรถไฟฟ้า ตลอดถึงอุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ ดังนั้นตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนบุคลากรด้านช่างเทคนิคทั้ง ระดับ ปวช./ปวส. สถาบันเทคโนโลยีปทุมวันและสถาบันการศึกษาด้านช่างฝีมือต่างๆ ควรเร่งจัดหลักสูตรระยะสั้น ด้านช่างฝีมือและการRe-skills Up-skills New-skills เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มากและรวดเร็วทันความต้องการให้มากที่สุด และผมขอส่งเสริมแนวคิดในภาคการศึกษาขั้นสูงของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันควรจะมี Research & Development Center เพื่อเป็นศูนย์กลางของข้อมูลด้านเทคโนโลยียานยนต์แห่งโลกอนาคต ที่ใครๆ จะต้องนึกถึงสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันเป็นที่แรก


ด้าน คุณถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษาและอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานได้กล่าวเสริมมุมมองตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ว่า เราต้องปรับตัวให้ทันจากการ Transformation จากเครื่องยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้แนวโน้มตลาดรถไฟฟ้ามีความต้องการอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นถึง 400% ในช่วงปี 2020-2023 จะเห็นว่าผู้ผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยตอนนี้จะมาจากประเทศจีนเป็นหลัก อาทิ BYD, NETA, ORA ซึ่งก่อนหน้าตลาดรถเครื่องยนต์สันดาปจะเป็นของ ญี่ปุ่น อาทิ Toyota, Isuzu, Mitsubishi แนวโน้มของตลาดแรงงานก็อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ก็ต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และควรมีการศึกษาพลังงานทางเลือกอื่นอาทิ ไฮโดรเจน นอกจากพลังจากแบตเตอรีที่จะมาช่วยเรื่องของ Zero emission สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนควรให้ความสำคัญการซ่อมแซม หรืองานด้านบำรุงรักษา หรือวิเคราะห์ปัญหาในรถไฟฟ้าเป็นหลักในส่วนของรถดัดแปลงเนื่องจากกฏระเบียบของการจดทะเบียน ควรจะดูท่าทีการสนับสนุนของภาครัฐ
คุณสมชาย ไตรสุริยธรรมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Integrated Technology Consultants Co.,Ltd กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเป็น Mega trend ซึ่งช่วยเรื่องของ Zero emission และยังต่อยอดผลงานวิจัยออกมาได้อีกหลายด้าน 1.เทคโนโลยีอาทิ Electric drivetrain, Autonomous driving, Mobility ยานยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันมีใช้ในงาน การลาก-จุง เครื่องบิน (pushback truck) ขนส่งเชิญพาณิชย์ อุตสาหกรรมเกษตร รถตักดิน เป็นต้น 2.การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ จะมีมาตรฐาน SAE level 0-5 ออกมาใช้อ้างอิง โดยระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ มีการนำมาใช้ในเครื่องบินมาก่อน ดังเช่นระบบ Fly By Wire (FBW) หรือ Drive By Wire (DBY) ปัจจุบันเริ่มที่จะมีการพัฒนาระบบมาใช้ในรถที่เราเรียกว่า Wheel By Wire (WBY) 3. นอกจากนี้เรายังมีอุปกรณ์อัจฉริยะ อื่น อาทิ LIDAR, RADAR และ Sensors สำหรับยานยนต์ในอนาคต


คุณธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสำเร็จและการสร้างผลงานต่างๆนั้นยังคงต้องใช้มนุษย์ มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีแม้ว่าจะซับซ้อนเพียงใดแต่มนุษย์ก็มีความถนัดในแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ทำให้ได้บุคลากรในสังคมมีความสามารถหลากหลาย นักศึกษาก็เช่นกัน ดังนั้นจุดเริ่มที่สำคัญคือ กระบวนคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาในสถาบันการศึกษาก็มีความสำคัญ แม้ว่าเมื่อคัดตัวบุคคลเข้ามาได้แล้วและเราจัดสภาพแวดล้อมหรือการเรียนรู้ที่เหมือนกัน อยู่ในสถานที่เดียวกัน ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าทุกคนจะมีความสามารถความชำนาญที่เหมือนกัน งานบางอย่างอาจจะยากหรือไม่ถนัดสำหรับนักศึกษาบางคน แต่ในขณะที่อีกคนรู้สึกว่าง่ายและสามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นหากเราต้องการให้นักศึกษาเก่ง เราต้องมี คณาจารย์ ที่เก่งครบทุกทักษะ เพื่อที่จะได้เป็นต้นแบบที่ดี หรือที่สมัยก่อนนิยมเปรียบครูอาจารย์เสมือนแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ที่จะต้องหล่อหลอมศิษย์เพื่อให้มีคุณภาพและเป็นคนดี ด้านหลักสูตรการเรียนการสอนก็สำคัญ เราอาจจะมามุ่งมาประเด็นเรื่องของการซ่อมแซมและบำรุงรักษาในยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตอันใกล้มีความจำเป็นอย่างสูง
ดร. พิศณุ วิชยโยธิน ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Mishino, AKP Technology จำกัด เล่าว่า ตนเองเติบโตมากับงานด้านจาก mold & die และงานในกลุ่มยานยนต์ภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน เข้าใจความจำเป็นพื้นฐานของคนในสังคมส่วนใหญ่ มองประเด็นและให้ความสำคัญในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นหลัก ซึ่งสามารถสร้างงานให้ กับ SME อู่ซ่อมทั่วประเทศ ตอนนี้ตนเองมีทีมออกแบบ ผลิต พร้อมทีมวิจัยและพัฒนาชุดขับเคลื่อนระบบยานยนต์ไฟฟ้าด้วยวิศวกรไทยซึ่งสามารถนำไปติดตั้งได้ในยานยนต์หลายประเภท อาทิ รถกระบะ รถนั่งส่วนบุคคล รถโฟล์คลิฟท์ พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของสถาบันฯ แต่ประเด็นหลักที่อยากฝากไว้กับภาครัฐคือเรื่องกฎหมายระเบียบของการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายกับองค์กรและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดต่างๆที่ได้จากการระดมสมองในครั้งนี้จะนำมาดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนด้านยานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คลังสมอง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน จะนำเสนอแก่สาธารณะชน และนำมาพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบ Degree /Non – Degree เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานต่อไป
ข้อมูล/เรียบเรียง : ดร.จิโรภาส เสือแก้ว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน


นางสาวสาวิตรี สามปลื้ม นักประชาสัมพันธ์ กองกลาง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
ภาพ : ฝ่ายสื่อสารองค์กร กองกลาง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน